Sompo

Innovation for Wellbeing

Home» สาระดีๆ จากซมโปะ» บทความดีๆ จากซมโปะ» อัพเดท! รวมข้อห้ามในการขับรถ กฎจราจร ทุกประเภท

อัพเดท! รวมข้อห้ามในการขับรถ กฎจราจร ทุกประเภท

27 ส.ค. 2020 |

cover-update-traffic-rules.jpg

 

เชื่อว่าหลายคนที่ขับรถมาหลายปีแล้ว ก็จะมีความรู้กฏหมายกฎจราจร พ.ร.บ. ข้อห้ามรถป้ายแดงอยู่มาก แต่รู้ไหมว่ากฎจราจรเหล่านี้มีหลายๆ ข้อที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มข้อกำหนดมาใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและพฤติกรรมคนใช้ถนน วันนี้ซมโปะจะพาไปดูกฎจราจรที่เราอาจจะลืมไปแล้วหรือไม่รู้มาก่อน ว่ามีอะไรกันบ้าง เพื่อย้ำเตือนไม่ให้พลาดกัน

 

ข้อห้ามเมื่อขับรถ กฎจราจร ที่อาจไม่รู้มาก่อน

ขับรถมาหลายปีแต่ก็อาจลืมหรือไม่ได้อัพเดทกฎบางข้อได้ ลองมาดูกันมีข้อไหนบ้าง

 

ขนสุรา เหล้า เบียร์ เครื่องดื่มแอกอฮอล์ขึ้นรถ

1. ห้ามขนเหล้าเบียร์ขึ้นรถเกิน 10 ลิตร

รู้ไหมว่า พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 ในมาตราที่ 14 ระบุว่า "ห้ามมิให้ทําการขนสุราตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตขนสุรา จากเจ้าพนักงานสรรพสามิต..." นั่นแปลว่า เราไม่สามารถขนเหล้าเบียร์ขึ้นรถได้เกิน 10 ลิตรนั่นเอง (ยกเว้นมีใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน) ทีนี้ในช่วงเทศกาล ใครขับรถพกเหล้าเบียร์ไปหลายลังก็ต้องระวังกันหน่อยล่ะ

 

ป้ายจราจรจำกัดความเร็ว 50 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

2. เพิ่มถนนจำกัดความเร็ว 50 กม./ชม.

มีบางถนนในกรุงเทพฯ ถูกเพิ่มจำกัดความเร็วอยู่ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่บอกได้ว่าค่อนข้างต่ำสำหรับหลายๆ คน ใครเผลอขับรถเหยียบเกินมีสิทธิ์โดนจับปรับ โดยถนนเหล่านั้นได้แก่ 8 ถนนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ดังนี้ (ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2561)

  • ถนนนครราชสีมา ตั้งแต่แยกสวนรื่น ถึงแยกวังแดง,
  • ถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกอุภัยเจษฎุทิศ ถึงเชิงสะพานกรุงธน,
  • ถนนสามเสน ตั้งแต่แยกบางกระบือ ถึงแยกสี่เสาเทเวศน์,
  • ถนนอู่ทองนอก ตั้งแต่แยกอู่ทองนอก ถึงแยกท่าวาสุกรี,
  • ถนนสุโขทัย ตั้งแต่แยกสวนรื่น ถึงแยกสุโขทัย,
  • ถนนศรีอยุธยา ตั้งแต่แยกกองพลที่ 1 ถึงแยกเสาวนีย์,
  • ถนนพระราม 8 ตั้งแต่แยกพาณิชย์ ถึงแยกสุโขทัย
  • และถนนสวรรคโลก ตั้งแต่แยกยมราช ถึงแยกสวรรคโลก

 

ผู้โดยสารนั่งเบาะหลังควรคาดเข็มขัดนิรภัย

3. นั่งหลังก็ต้องคาดเข็มขัด

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า เมื่อปี 2560 มีการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบกเรื่อง ทุกคนในรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งที่นั่งด้านหน้าและด้านหลัง ทั้งนี้เวลาโดนตรวจถ้าคนนั่งเบาะหลังไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยขึ้นมา ก็อาจโดนจับปรับได้นะ

 

ป้ายจราจร สุดเขตบังคับ หมายถึง พ้นสุดระยะที่บังคับตามความหมายของป้ายบังคับที่ติดตั้งไว้ก่อน

4. ป้ายจราจรที่ไม่คุ้นชิน

ป้ายจราจรที่ไม่ค่อยเห็นและไม่รู้จัก  ข้อนี้เป็นเรื่องของป้ายจราจร ป้ายนี้มักเห็นไม่ค่อยบ่อย ใครไม่รู้อาจนึกว่าเป็นป้ายห้ามอะไรสักอย่าง แต่ไม่ใช่ ป้ายนี้คือ "สุดเขตบังคับ" หมายถึง พ้นสุดระยะที่บังคับตามความหมายของป้ายบังคับที่ติดตั้งไว้ก่อน นั่นเอง

 

 

ท่องไว้เลย! ข้อห้ามขับรถ กฎจราจร ที่ชอบเผลอทำ

 

การวิ่งทับเส้นทึบ หรือเปลี่ยนเลนในเส้นทึบถือว่าผิดกฎจราจร

1. แซงเส้นทึบเพื่อขึ้นสะพาน หน้าสี่แยกไฟแดง หรือเปลี่ยนเข้าเลนเลี้ยวกระทันหัน

การแซงเส้นทึบเพื่อขึ้นสะพาน หรือเปลี่ยนเลนเส้นทึบบริเวณหน้าสี่แยกไฟแดง หรือการเข้าแซงเข้าเลนเลี้ยวผ่านเส้นทึบที่รถคันอื่นจอดรอคิวกันเป็นเรื่องที่เจอบ่อยมากทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งโดนจับปรับกันมากเนื่องจากจุดเหล่านี้มักจะมีกล้องตรวจจับเกือบทุกที่ เพราะเป็นจุดยอดฮิตที่คนชอบละเมิดกันนั่นเอง

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ระบุโทษในข้อหาแซงในเส้นทึบโดยมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 400 - 1,000 บาท ถ้าใครไม่อยากเสียเงิน และไม่อยากทำผิดกฎจราจร ก็ต้องท่องจำไว้อย่าเผลอพลาดเด็ดขาด

 

จอดรถทับทางม้าลายถือว่าผิดกฎจราจร

2. จอดเลยเส้นตรงแยก หรือทับทางม้าลาย

ข้อนี้ก็เห็นบ่อยรองลงมาตามสี่แยกหรือทางแยกต่างๆ ส่วนมากเป็นเพราะเบรกไม่ทันทำให้เกินล้ำเส้นออกมา หรือทับทางม้าลายเนื่องจากไม่ได้กะระยะหยุดรถจากคันหน้าก็ตาม ทั้งนี้ทำให้เสี่ยงโดนปรับได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2522 ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหลังเส้นหยุด หากฝ่าฝืนอาจมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ดังนั้นทางที่ดีเมื่อใกล้ถึงทางแยกควรชะลอความเร็วเมื่อสัญญาณไฟใกล้เปลี่ยน ไม่ควรรีบขับรถเร่งความเร็วเพื่อให้พ้นแยก ยิ่งจะทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเว้นระยะห่างจากรถให้มากพอดี จะได้ไม่ทับทางม้าลายหากรถคันหน้าหยุดขึ้นมา

 

ไม่ควรขับรถวิ่งบนไหล่ทาง

3. เปิดวาร์ป ช่องพิเศษ ไหล่ทาง

กรณีนี้จะพบเมื่อตอนรถติด จะพบว่ามีรถเปิดช่องพิเศษบนไหล่ทาง ทั้งซ้ายและขวา แถมไปเบียดเข้าเลนข้างหน้าอีก ตามกฎหมายแล้วไหล่ทางเอาไว้จอดรถฉุกเฉิน ไม่ได้มีเอาไว้ให้รถยนต์วิ่ง และยังเสี่ยงอันตรายเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จากรถสวนเลนมาหรือมีคนเดิน จักรยาน อีกทั้งไหล่ทางมักจะมีขยะ หรือวัตถุที่เสี่ยงทำให้ยางเราแตกได้นะ

 

รถทุกคันต้องทำประกันภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.

4. ไม่ทำประกันภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.

ตามกฎหมาย ถ้ารถที่เราใช้อยู่ขณะนั้น เป็นรถที่ไม่ได้ทำ พ.ร.บ. แล้วมีการตรวจรถคันนั้นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถหรือเป็นเพียงผู้ใช้รถก็มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทเช่นเดียวกัน

ดังนั้นไม่คุ้มเลย ที่จะเลี่ยงทำ พ.ร.บ. ทั้งๆ ที่ราคาก็ค่อนข้างถูก แถมพึ่งมีการปรับเพิ่มความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเป็น 500,000 บาท จากเดิม 300,000 บาทเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมานี้เอง หากใครต้องการหาซื้อ ลองดู SOMPO MotorJoy 2+ ได้ทั้งประกันรถยนต์ชั้น 2+ และ พ.ร.บ. ความคุ้มครองเกือบเท่าชั้น 1 แต่เบี้ยถูกกว่ามาก

 

ข้อห้ามรถป้ายแดงที่ควรรู้!

ข้อห้ามรถป้ายแดง สำหรับคนซื้อรถใหม่

1. คนขับรถป้ายแดงต้องลงรายละเอียดในสมุดคู่มือเสมอ โดยเป็นสมุดที่ออกโดยกรมขนส่งทางบก ซึ่งตำรวจหรือด่านตรวจสามารถตรวจสมุดเราได้หากแจ็คพอตขึ้นมา ดังนั้นผู้ขับต้องลงชื่อผู้ขับ เวลาการใช้รถ และจุดหมายปลายทางที่จะไปหรืออื่นๆ ที่มีให้บันทึก เสียเวลาสักนิดเพื่อความชัวร์ดีกว่านะ ไม่งั้นมีโอกาสโดนปรับไม่เกิน 1,000 บาท

2. รถป้ายแดงห้ามขับตอนกลางคืน เพราะป้ายแดงมองไม่ชัดในเวลากลางคืน ทำให้มีโอกาสทำผิดได้ เช่น ชนแล้วหนี และตามกฎหมายที่ห้ามวิ่งตอนกลางคืนนั้น แต่บางทีเราก็ยังเห็นมีรถป้ายแดงวิ่งกันอยู่ในตอนกลางคืน แต่ไม่ดึกมาก เนื่องจากสภาวะการทำงาน รถติด คนสมัยนี้เลิกงานดึก หากโดนตรวจขึ้นมาก็อาจผ่อนปรนกันได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้หากจำเป็นจริงๆ ต้องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนก่อนทุกครั้ง

3. ใช้ป้ายแดงได้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน นับจากวันรับรถ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับให้เจ้าของรถดำเนินการจดทะเบียนรถให้เรียบร้อย เพราะป้องกันการทำผิดและอาชญากรรมจากรถที่ยังไม่ได้จดทะเบียนได้

ข้อห้ามรถป้ายแดงข้อนี้ค่อนข้างแรง ความผิดตามพ.ร.บ. พ.ศ.2522 มาตรา 6 ฐานใช้รถที่ยังไม่จดทะเบียน มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

ใครเป็นมือใหม่ป้ายแดง อย่าลืมอ่านวิธีรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (link to บทความ "ขับรถต้องรู้! วิธีรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน") เอาไว้ด้วยล่ะ เป็นความรู้ติดตัวอย่างดี

เมื่อรู้ทุกข้อแบบนี้แล้ว การขับรถของคุณก็จะช่วยความปลอดภัยและเลี่ยงการถูกจับปรับได้มากขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่าอุบัติเหตุเรื่องไม่คาดคิดนั้นเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หากมองหาประกันรถยนต์ที่อุ่นใจล่ะก็ ต้องพกซมโปะไว้อุ่นใจแน่นอน ปรึกษาเรื่องประกันภัยกับผู้เชี่ยวชาญของเราได้ที่ 02-119-3000 หรือคลิกดูรายละเอียดได้เองที่ https://welcome.sompo.co.th/